เลือดกำเดา (Epistaxis) สาเหตุ และการรักษาเลือดกำเดาไหล

เลือดกำเดา หรือเลือดออกจมูก (Epistaxis หรือ Nosebleed) หมายถึง ภาวะที่มีเลือดออกจากโพรงจมูกทางส่วนหน้าหรือส่วนหลังของโพรงจมูก โดยส่วนใหญ่ประมาณ 90% ของเลือดกำเดาไหลจะเกิดขึ้นที่บริเวณผนังกั้นจมูกด้านหน้าซึ่งเป็นบริเวณที่มีหลอดเลือดแดงหลายเส้นมาบรรจบกันเป็นร่างแหหรือเป็นตาข่าย ที่เรียกว่า Kiessel bach’s plexus หรือ Little’s area เมื่อหลอดเลือดเหล่านี้มีการแตกทำลายหรือเกิดการฉีกขาดก็จะทำให้มีเลือดสด ๆ ไหลออกจากทางรูจมูก ซึ่งมักออกเพียงข้างเดียว (บางรายอาจออกทั้ง 2 ข้างก็ได้) ส่วนใหญ่ภาวะนี้มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่โดยมากมักจะไม่เป็นอันตรายหรือมีสาเหตุที่ร้ายแรง ซึ่งจะทำให้มีเลือดออกเพียงเล็กน้อยและหยุดไหลได้เอง เพราะร่างกายมีการสร้างลิ่มเลือดเป็นตาข่ายมาปิดรอยฉีกขาดไว้

เลือดกำเดา (Epistaxis)

เลือดกำเดาไหลเป็นภาวะหรืออาการที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่จะพบได้สูงในเด็กอายุ 2-10 ปี (แต่มักไม่พบในเด็กอ่อน) และคนวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่อากาศจะเย็นและแห้งกว่าปกติ เยื่อบุโพรงจมูกจึงพลอยแห้งตามไปด้วย น้ำมูกที่ติดอยู่ในจมูกก็เลยแห้งกรังอยู่ภายในทำให้เกิดความรำคาญ ต้องแคะ แกะ ขยี้จมูกบ่อย ๆ เมื่อรอยแตกเล็ก ๆ ที่พื้นผิวในโพรงจมูกเริ่มเกิดขึ้นโดยเฉพาะบริเวณส่วนหน้าของผนังกั้นโพรงจมูกที่มีหลอดเลือดฝอยจำนวนมากมาบรรจบกัน เมื่อถูกแคะหรือขยี้ก็จะทำให้รอยแตกเกิดเป็นแผลถลอกขึ้น หลอดเลือดฝอยจึงฉีกขาดทำให้เกิดเลือดกำเดาไหลออกมาจากจมูก

สาเหตุที่เลือดกำเดา

ภาวะเลือดกำเดาไหลอาจเป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นในจมูกและโพรงหลังจมูก จากโรคหรือความผิดปกติของระบบร่างกายอื่น ๆ หรือเกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิดที่ทำให้เลือดไหล่ง่ายกว่าปกติ

  1. การระคายเคืองหรือบาดเจ็บบริเวณจมูก
  2. ความผิดปกติทางกายวิภาคของโพรงจมูก
  3. การอักเสบในโพรงจมูก
  4. เนื้องอกของโพรงจมูก
  5. ความผิดปกติของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงจมูก
  6. สาเหตุที่เกิดจากโรคหรือความผิดปกติของระบบร่างกายอื่น ๆ ได้แก่

    • โรคเลือดชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด เช่น ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ, มะเร็งเม็ดเลือดขาว, โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ, ไอทีพี, โรคเลือดไหลไม่หยุดหรือฮีโมฟิเลีย (Hemophilia), โรคตับและไต (เช่น ตับแข็ง ตับวาย ไตวาย) เพราะทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ, การดื่มเหล้ามาก, ภาวะการขาดสารอาหารจำพวกวิตามิน (เช่น วิตามินซี วิตามินเค), การได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด
    • โรคของหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง (เพราะเป็นโรคที่มีผนังหลอดเลือดตีบแข็งและการยืดหยุ่นของหลอดเลือดไม่ดี จึงทำให้หลอดเลือดเปราะและแตกได้ง่าย), โรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดทั่วร่างกาย (Hereditary hemorrhagic telangiectasia – HHT) เป็นต้น
    • ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้ราวร้อยละ 10
    • ในบางกรณีพิเศษ อาการปวดศีรษะไมเกรนในเด็กก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เลือดกำเดาไหลได้

การรักษาเลือดกำเดาไหล

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยตัวเองเมื่อมีเลือดกำเดาไหล (วิธีนี้ใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่) ให้ผู้ป่วยนั่งหลังตรงและก้มหน้าเล็กน้อย แล้วใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือบีบ (กด) ปีกจมูกทั้ง 2 ข้างเข้าหากันในแนวกลาง โดยหนีบบริเวณผนังกั้นจมูกเอาไว้เพื่อกดจุดเลือดออกเป็นเวลาประมาณ 5-10 นาที (การกดหรือบีบ ต้องกดหรือบีบให้แน่น) แล้วค่อยคล้ายออก และในระหว่างนี้ให้หายใจทางปากแทน ซึ่งการใช้วิธีนี้ส่วนมากมักจะได้ผล (เพราะประมาณ 90% เลือดมักจะไหลออกมาจากส่วนหน้าของจมูก การบีบหรือกดที่ปีกจมูกจึงช่วยทำให้เลือดหยุดไหลได้) แต่ถ้ายังไม่ได้ผลให้ทำซ้ำอีกครั้งเป็นเวลานาน 10 นาที นอกจากนี้ อาจใช้ผ้าเย็น หรือน้ำแข็งห่อผ้าหรือใส่ถุงพลาสติก หรือเจลประคบเย็น (Cold pack) วางประคบบนสันจมูกเอาไว้ด้วยก็ได้ เพื่อให้ความเย็นช่วยทำให้หลอดเลือดหดตัว

การดูแลตนเองหลังเลือดกำเดาหยุดไหล หลังเลือดกำเดาหยุดไหลแล้วภายใน 24-48 ชั่วโมงแรกจะต้องป้องกันไม่ให้เลือดออกซ้ำโดยการ

  • หลังเลือดหยุดไหลสนิทแล้ว สามารถทำความสะอาดจมูกด้วยน้ำอุ่นได้ และหลังจากทำความสะอาดเสร็จให้พยายามพักผ่อนเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลอีก
  • พยายามพักผ่อน หยุดทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่กำลังทำอยู่ และให้นอนหัวยกสูง รวมถึงทำใจให้สบาย โดยอาจฟังเพลงผ่อนคลายเพื่อให้หัวใจเต้นช้าลง
  • อาจประคบเย็นด้วยวิธีดังที่กล่าวไปแล้ว หลีกเลี่ยงการแคะจมูก ขยี้จมูกแรง ๆ และการสั่งน้ำมูกแรง ๆ เพราะจะทำให้เลือดที่แข็งตัวแล้วซึ่งปิดหลอดเลือดที่เสียหายก่อนหน้านี้ออก และทำให้เลือดกำเดาไหลอีกครั้ง ระวังการเบ่ง การไอ การจาม
  • หลีกเลี่ยงการกระทบเทือนบริเวณจมูก โดยการไม่ออกแรงมาก ไม่ยกหรือหิ้วของหนัก ๆ ไม่เล่นกีฬาที่หักโหมหรือเล่นนอกบ้าน ไม่สัมผัสอากาศที่ร้อน เพราะอาจทำให้มีเลือดออกได้
  • ไม่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่อุ่นหรือร้อน เพราะจะทำให้หลอดเลือดขยายตัว ซึ่งอาจทำให้เลือดออกได้อีก
  • แพทย์บางท่านแนะนำว่า ในขณะนอนหลับควรหนุนหมอนสูง ๆ

นอกจากนี้ในทางอ้อม การมีเลือดกำเดาไหลก็อาจทำให้ผู้ป่วยและ/ญาติที่อยู่ใกล้ตัวผู้ป่วยเกิดอาการตื่นตระหนกหรือตกใจกลัวที่เห็นเลือดจนเป็นลม หมดสติ เกิดภาวะหายใจล้มเหลว และ/หรือหกล้มหัวฟาดได้ โดยทั่วไปจะไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียง ยกเว้นในรายที่มีเลือดกำเดาออกมากหรือออกบ่อย ก็อาจทำให้เกิดภาวะซีดได้ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย